Friday, July 29, 2016

การสูบบุหรี่ทำให้แบคทีเรียในปากเสียสมดุล

นักวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่ทำให้แบคทีเรียที่มีอยู่ราว 600 สปีชีส์ในปากเสียสมดุลไป




นักวิจัยได้วิเคราะห์ดูว่า การสูบบุหรี่มีผลกระทบต่อแบคทีเรียในช่องปากอย่างไร โดยได้ศึกษาสปีชีส์ของแบคทีเรียด้วยวิธีทางพันธุกรรม

ก่อนหน้านี้ เคยมีการค้นพบว่า แบคทีเรียในลำไส้สามารถเสียสมดุลได้หากว่าเกิดโรคบางชนิด เช่น โรคโครห์น และโรคมะเร็งลำไส้ ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ประมาณการไว้ว่า โรคมะเร็งในช่องปากนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่มากกว่า 3 ใน 4 แต่ก็ยังไม่มีใครทราบว่า แบคทีเรียในช่องปากจะเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไรเมื่อมีการสูบบุหรี่และมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมากขึ้น

"การศึกษาของเรานับเป็นครั้งแรกที่ได้ค้นพบว่าการสูบบุหรี่มีผลกระทบอย่างมากต่อจุลินทรีย์ในช่องปาก" รองศาสตราจารย์ ดร.จียัง อัน นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กเผย

"เราต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกเพื่อพิสูจน์ว่า การเปลี่ยนแปลงสมดุลนี้ทำให้ร่างกายมีความสามารถต่อต้านสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งลดลงหรือไม่ หรือการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไปทำให้เกิดโรคอื่นๆ ในช่องปาก ปอด หรือลำไส้ตามมาด้วยหรือไม่" ดร.อัน อธิบาย

ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กทำการรวบรวมตัวอย่างจากชายและหญิงชาวอเมริกัน 1,204 คน ที่เข้าโครงการตรวจสุขภาพของสมาคมมะเร็งอเมริกัน โดยอาสาสมัครทุกคนอายุมากกว่า 50 ปี มีผู้สูบบุหรี่ 112 คน และมี 571 คนเคยสูบแต่เลิกไปแล้ว (ในนี้ มีอยู่ราวๆ 17 เปอร์เซ็นต์ที่เลิกสูบในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา) และอีก 521 คนไม่เคยสูบ นักวิจัยทำการวิเคราะห์ยีนและใช้ขั้นตอนทางสถิติเพื่อดูว่าแบคทีเรียหลายพันตัวในปากของอาสาสมัครนั้นเป็นชนิดใดกันบ้าง

สิ่งที่นักวิจัยพบคือ แบคทีเรียในช่องปากของผู้สูบบุหรี่นั้นแตกต่างกับกลุ่มที่ไม่เคยสูบและกลุ่มที่เลิกสูบไปแล้วอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบด้วยว่า แบคทีเรียในช่องปากนั้นจะกลับมาสมดุลเหมือนเดิมหากว่าเลิกสูบไปแล้ว โดยมีสมดุลเหมือนกับผู้ที่ไม่ได้สูบเลย

แบคทีเรียมากกว่า 150 สปีชีส์นั้นจะเติบโตขึ้นอย่างมากในปากของผู้ที่สูบบุหรี่ และในขณะที่ส่วนที่เหลือ 70 เปอร์เซ็นต์จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีแบคทีเรีย Proteobacteria (พบราวๆ 4.6 เปอร์เซ็นต์ในปาก) ลดลงกว่าผู้ที่ไม่สูบ (พบราวๆ 11.7 เปอร์เซ็นต์ในปาก) ซึ่งก็หมายถึงว่า สารเคมีที่มาจากการสูบบุหรี่มีผลกับการเติบโตของแบคทีเรียชนิดนี้ ในขณะที่แบคทีเรีย Streptococcus ในปากผู้ที่สูบจะมีมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งแบคทีเรียชนิดหลังนี้รู้จักกันดีว่าเป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดฟันผุ

ในขณะที่ ดร.แบรนดิลีน ปีเตอร์ นักวิจัยร่วมเผยว่า ข้อมูลที่ได้มาไม่สามารถบอกได้ว่าอีกนานแค่ไหนที่ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ไปแล้วจะมีสมดุลของแบคทีเรียในช่องปากกลับมาเหมือนเดิมหลังจากเลิกสูบไปแล้ว จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป

ดร.อันชี้ว่า เป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้คือดูว่า ลักษณะทางชีวภาพของผู้ที่สูบบุหรี่นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังมีเป้าหมายที่จะศึกษาดูความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่างๆ ที่มาจากการสูบบุหรี่อีกด้วย


Credit:http://variety.teenee.com/

No comments:
Write comments